ทันตกรรมสำหรับเด็ก

ทันตกรรมสำหรับเด็กมีความสำคัญไม่น้อยกว่าทันตกรรมในผู้ใหญ่ ซึ่งการทำฟันสำหรับเด็ก จำเป็นต้องอาศัยทันตแพทย์เฉพาะทางสำหรับเด็กที่จะช่วยดูแลสุขภาพฟันของเด็กในช่วงฟันน้ำนมให้ดี ซึ่งการมีสุขภาพของฟันน้ำนมที่ดี จะทำให้ฟันแท้ที่ขึ้นมาแทนที่ สามารถขึ้นมาได้ตรงตำแหน่งของฟันแท้แต่ละซี่ และช่วยให้ฟันแท้ที่จะขึ้นมามีความแข็งแรงตามปกติ

ทันตแพทย์เฉพาะทางสำหรับเด็กคือใคร

ทันตแพทย์เฉพาะทางสำหรับเด็ก เป็นทันตแพทย์ที่ได้ศึกษาต่อเฉพาะทางด้านทันตกรรมเด็กโดยเฉพาะ นอกจากจะมีความรู้ความสามารถด้านทันตกรรมทั่วไปแล้ว ยังมีความรู้ และความเชี่ยวชาญทางด้านทันตกรรมสำหรับเด็กโดยตรง ทันตแพทย์เฉพาะทางเด็กนี้จะดูแลฟันของเด็กตั้งแต่ก่อนเริ่มมีฟันน้ำนมซี่แรก และดูแลไปจนถึงฟันน้ำนมซี่สุดท้ายที่หลุด นอกจากนี้ก็ยังดูแลฟันแท้ที่เพิ่งจะงอกขึ้นมาในช่องปากอีกด้วย ที่สำคัญในการให้การรักษาฟันเด็ก ทันตแพทย์เฉพาะทางเด็กจะต้องศึกษาเพื่อที่จะเข้าใจถึงธรรมชาติของเด็ก มีการสื่อสาร และมีจิตวิทยาในการคุยกับเด็ก เพื่อให้เด็กยินยอมรับคำแนะนำ และให้พร้อมที่จะทำตามคำแนะนำของคุณหมอ เชื่อฟังคุณหมอ และยินดีให้คุณหมอดูแลสุขภาพฟันของฟันน้ำนม และสุขภาพช่องปากโดยรวมของเด็กอย่างเต็มใจ

ความแตกต่างระหว่างทันตแพทย์เฉพาะทางสำหรับเด็กกับทันตแพทย์ที่ทำฟันให้ผู้ใหญ่

เนื่องจากเด็กมีวุฒิภาวการณ์ตัดสินใจที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ มีการใช้อารมณ์ และความรู้สึกในการตัดสินใจมากกว่าเหตุผล ดังนั้น ทันตแพทย์เฉพาะทางสำหรับเด็กจึงแตกต่างจากทันตแพทย์ที่ทำฟันให้ผู้ใหญ่  ซึ่งทันตแพทย์เฉพาะทางสำหรับเด็กนั้นจำเป็นต้องมีคุณสมบัติพิเศษเพิ่มขึ้นมาอีก เพื่อให้เด็กและผู้ปกครองยอมรับ คือ

  1. ต้องสามารถสื่อสารทำความเข้าใจกับพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กให้เข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องดูแลทันตกรรมสำหรับเด็กได้ดี เพราะก่อนจะเข้าถึงเด็กได้ หรือการดูแลปฏิบัติตามคำแนะนำของเด็ก ต้องมีพ่อแม่เป็นผู้รับคำแนะนำจากคุณหมอไปปฏิบัติ เสมือนเป็นผู้ช่วยคุณหมอที่บ้าน
  2. เข้าใจ และมีจิตวิทยาในการสื่อสารกับเด็ก รู้ว่าธรรมชาติของเด็ก กลัวการพบแพทย์ กลัวความเจ็บปวด เพียงเห็นเครื่องของทันตแพทย์ก็กลัวแล้ว จึงต้องคลายความหวาดกลัว ตั้งแต่เรื่องสถานที่ รวมถึงบรรยากาศภายในคลินิกเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับเด็ก รู้สึกผ่อนคลาย ไม่กังวล
  3. สื่อสารทำความเข้าใจ ทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่นใจ และยินยอมให้ความร่วมมือกับหมอในการตรวจรักษา เหมือนญาติผู้ใหญ่ที่เด็กไว้วางใจได้ ไม่หวาดระแวง หรือรู้สึกไม่ปลอดภัย ซึ่งเมื่อสร้างความรู้สึกแบบนี้ได้ เด็กจะไม่กลัว จะเชื่อฟัน และยินดีที่จะทำตามคำแนะนำ หรือคำสอนของคุณหมอ
  4. มีความใจเย็น สามารถรับมือกับอารมณ์ของเด็กได้ดี รวมถึงเข้าใจ และคลี่คลายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้ดี เพราะความกลัวของเด็กแต่ละคนแสดงออกแตกต่างกัน
  5. รู้วิธีสื่อสารกับเด็ก ทั้งภาษาที่ใช้ ทำให้เข้าใจง่ายและมีความเป็นพวกเดียวกัน ทำให้เด็กยินดีที่จะปฏิบัติตาม ไม่กลัวที่จะกลับไปหาหมออีกในครั้งต่อไป

ทันตแพทย์เฉพาะทางเด็กให้บริการอะไรบ้าง

ทันตแพทย์เฉพาะทางสำหรับเด็กจะให้บริการตั้งแต่ การดูแลสุขภาพในช่องปากตั้งแต่เกิดจนถึงเมื่อมีฟันน้ำนมงอกขึ้นมาแล้ว ก็จะดูแลสุขภาพของเหงือก และฟัน และสุขภาพช่องปากทั่วๆไปของเด็ก  และดูแลรักษากรณีที่จำเป็นต้องให้การรักษาเวลาฟันของเด็กมีปัญหา พ่อแม่ที่ใส่ใจพาเด็กมาหาทันตแพทย์เฉพาะทางสำหรับเด็กแต่เนิ่นๆ จะได้รับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพช่องปาก และฟันให้กับเด็ก และได้เรียนรู้ถึงวิธีป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาต่างๆกับฟันน้ำนม ซึ่งถ้าหากมีปัญหาเกิดขึ้น เช่น ฟันผุ ทันตแพทย์ก็จะได้ทำการรักษาได้อย่างเร็วทันท่วงที เด็กก็จะไม่เจ็บ ไม่ปวด ก็จะส่งผลดีกับเด็ก คือเด็กจะไม่กลัวการทำฟัน เป็นต้น

ทำไมจะต้องรักษาฟันน้ำนม ทั้งๆ ที่เมื่อโตขึ้น ฟันก็หลุดได้เอง

แม้ว่าฟันของเด็กจะเป็นฟันน้ำนม แต่เป็นฟันที่เด็กจะต้องใช้งานไปจนกว่าจะถึงเวลาที่ฟันแท้ขึ้น หากปล่อยให้ฟันน้ำนมมีปัญหาเสียหาย หรือหลุดหายไป ต้องถอนออกไปก่อนเวลาอันควร เด็กจะมีปัญหาในการเคี้ยวอาหารซึ่งส่งผลต่อสุขภาพ และยังทำให้ฟันน้ำนมที่เหลือในช่องปากมีการล้ม ส่งผลให้ฟันแท้ที่ขึ้นมาในอนาคตอาจจะขึ้นมาไม่ตรงตามตำแหน่งที่ควรจะเป็น หรือกรณีที่ฟันผุ ทำให้ปวดฟัน การรักษาที่จะต้องทำก็อาจทำให้เด็กได้รับประสบการณ์การทำฟันที่ไม่ดี ทำให้เด็กกลัวการทำฟันไปเลย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องรักษาฟันน้ำนมให้แข็งแรง สามารถใช้งานได้ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในช่องปากตามปกติที่ควรจะเป็น เพื่อรอการมาของฟันแท้ที่มีคุณภาพ แข็งแรง และเรียงเป็นระเบียบสวยงาม

ทันตกรรมเฉพาะทางสำหรับเด็ก ให้การรักษาอะไรบ้าง

การรักษาฟันสำหรับเด็ก โดยทั่วไป ทันตกรรมเฉพาะทางสำหรับเด็ก จะให้การรักษาที่มีลักษณะครอบคลุมด้านทันตกรรมทุกประเภทเหมือนทันตกรรมในผู้ใหญ่

ยกตัวอย่าง ประเภทของการรักษาทางทันตกรรมสำหรับเด็ก เช่น

  • ตรวจสุขภาพช่องปากทั่วไป รวมทั้งสุขภาพของเหงือก และฟัน
  • เคลือบฟลูออไรด์ให้แก่ฟันเพื่อป้องกันฟันผุ
  • ขูดหินปูน และขัดฟัน
  • อุดฟัน
  • ถอนฟัน
  • รักษารากฟัน
  • ทำครอบฟัน เพื่อป้องกันปัญหาฟันล้ม ฟันเก เป็นต้น
รูปตัวอย่าง ก่อน-หลังการอุดฟันในเด็ก

คำถามที่พบบ่อยที่เกี่ยวข้องกับการทำฟันเด็ก

  1. ควรพาลูกไปหาทันตแพทย์ครั้งแรกเมื่อไร

พ่อแม่ควรพาลูกไปหาทันตแพทย์ตั้งแต่อายุ 6 เดือนหรือสังเกตว่าเริ่มมีฟันน้ำนมซี่แรกขึ้นมา เพื่อจะได้รู้วิธีดูแลตั้งแต่ต้น

  1. ต้องไปหาทันตแพทย์เฉพาะทางสำหรับเด็กบ่อยแค่ไหน

ถ้าไม่มีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น การพบทันตแพทย์สำหรับเด็กทุก 6 เดือนก็เพียงพอ ทั้งนี้เพื่อรับคำแนะนำในการดูแล และตรวจเช็ค รวมถึงป้องกันก่อนที่จะมีปัญหา

  1. ทำอย่างไรไม่ให้ลูกกลัวการไปหาทันตแพทย์

ต้องเริ่มต้นตั้งแต่การไปพบแพทย์เป็นประจำ สร้างความคุ้นเคยที่ดีกับการสัมผัสเหงือกตั้งแต่ฟันยังไม่ขึ้น แทรกความรู้สึกดีๆ ในการตรวจฟันผ่านนิทาน ไม่สอนลูกให้ดูแลสุขภาพฟันด้วยการสร้างเรื่องขู่ให้ลูกกลัวความเจ็บปวด และพาลูกไปหาหมอเป็นประจำ ให้คุ้นเคยกับสถานที่ คุ้นเคยกับคุณหมอ การหาหมอเป็นประจำแม้ไม่เป็นอะไรก็เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้ลูกรู้สึกเป็นเรื่องธรรมดาเพราะแค่ไปตรวจ ไปคุยกับหมอ

  1. ต้องเตรียมตัวอย่างไรเมื่อพาลูกไปพบทันตแพทย์

สื่อสารกับลูกก่อนที่จะไปพบทันตแพทย์เพื่อสร้างความมั่นใจและทัศนคติที่ดี ลูกจะได้ไม่ตกใจ และที่สำคัญคือ ไม่กลัวการทำฟัน และไม่กลัวหมอฟัน

และไม่ควรพาไปหาทันตแพทย์ในขณะที่มีอาการเจ็บป่วยอื่น เพราะจะทำให้เด็กหงุดหงิดง่าย และมีสภาพของร่างกายที่ไม่พร้อมในการทำฟัน อาจเกิดภาวะเครียดได้

ทันตกรรมสำหรับเด็กเป็นเรื่องสำคัญ ละเอียดอ่อน และจำเป็น ซึ่งการดูแลรักษาสุขภาพปาก เหงือก และฟันตั้งแต่เริ่มต้น กับทันตแพทย์เฉพาะทางสำหรับเด็ก จะป็นรากฐานของการมีสุขภาพฟันที่ดีไปตลอดชีวิต

บริการด้านทันตกรรม