การทำสะพานฟัน (Dental bridge)

สะพานฟันคืออะไร

สะพานฟัน หรือ Dental bridge ฟันปลอม ที่เปรียบเสมือนสะพานเชื่อมปิดช่องว่างระหว่างฟันสองฝั่ง ซึ่งช่องว่างนั้น เป็นตำแหน่งของฟันที่สูญเสียไป อาจจะเกิดจากการสูญเสียฟันไป 1 ซี่ หรือมากกว่านั้นก็ได้ โดยในการทำสะพานนั้น จะต้องมีการครอบฟัน ที่อยู่ติดกับตำแหน่งของฟันที่สูญเสีย ทั้งสองด้าน เพื่อเป็นจุดยึดให้กับฟันปลอม ที่จะอยู่ตรงกลาง โดยวัสดุที่นำมาใช้ อาจจะเป็นทอง อัลลอยด์ พอร์ซเลนก็ได้

สะพานฟันมีประโยชน์อย่างไร

สะพานฟันเป็นวิธีการทางทันตกรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นทางเลือกให้กับผู้สูญเสียฟัน ซึ่งมีประโยชน์หลายอย่างคือ

  • ช่วยสร้างรอยยิ้มที่มั่นใจได้เหมือนเดิม
  • ช่วยทำให้การเคี้ยวอาหาร และการพูด มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ช่วยรักษารูปหน้าในคงเดิม เหมือนกับตอนที่ยังไม่สูญเสียฟันไป
  • ช่วยให้แรงกัดดีขึ้น สมดุลย์ยิ่งขึ้นกว่าตอนที่ไม่มีฟัน
  • ช่วยป้องกันไม่ให้ฟันซี่ที่อยู่ใกล้เคียงเคลื่อนออกจากจตำแหน่งเดิม หรือล้มเอียงลงมาจุดที่เป็นพื้นที่ว่าง

สะพานฟันมีกี่ชนิด

ชนิดของสะพานฟัน โดยหลัก ๆ แล้ว มีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิดคือ

  • สะพานฟันแบบธรรมดา หรือ Traditional bridge เป็นวิธีการครอบฟันที่อยู่ด้านข้างของฟันซี่ที่สูญเสียไป เพื่อเป็นตัวยึดให้กับฟันปลอมที่จะใส่ไว้ตรงกลาง วัสดุที่นำมาใช้ในการครอบฟันแบบนี้ มักจะเป็นโลหะ หลอมเข้ากับพอร์ซเลนหรือเป็นเซรามิคก็ได้
  • สะพานฟันแบบยึดด้านเดียว หรือ Cantilever bridge เป็นการครอบเพื่อทำที่ยึดเกาะให้กับฟันปลอมที่จะใส่แทนที่ฟันที่สูญเสียไป เพียงข้างเดียว วิธีนี้ ไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนัก เพราะฟันที่ถูกครอบเพื่อยึดเกาะเพียงซี่เดียวนั้น จะต้องรับแรงกดแรงกัดมากเกินไป อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายได้
  • สะพานฟันแบบแมรี่แลนด์ หรือ Maryland bonded bridge อาจจะเรียกว่า Rasin-bonded bridge ก็ได้ วัสดุของสะพานฟันแบบนี้ ทำมาจากพอร์เซลีนหลอมเข้ากับโลหะ หรือมีฟันและเหงือกพลาสติกรองรับด้วยกรอบโลหะ หรือพอร์ซเลน มีปีกที่ใช้ยึดเกาะฟันที่เป็นตัวสำหรับยึดเกาะด้านใดด้านหนึ่ง

ขั้นตอนในการทำสะพานฟัน

ขั้นตอนในการทำสะพานฟันนั้น คนไข้มีความจะเป็นต้องมาพบทันตแพทย์ อย่างน้อย 2 ครั้ง แต่ละครั้งจะมีรายละเอียดดังนี้

  • การพบทันตแพทย์ครั้งแรก เมื่อตัดสินใจว่าจะทำสะพานฟัน จะต้องมีการเตรียมสำหรับการทำสะพานฟัน ในขั้นตอนนี้ ทันตแพทย์จะกรอฟัน เพื่อนำผิวฟันในส่วนเกินออก ทำให้มีพื้นที่เพียงพอสำหรับการครอบฟัน เมื่อกรอเสร็จ จะพิมพ์ฟัน เพื่อส่งไปทำครอบฟัน และตัวสะพานฟัน ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะต้องรอการทำชิ้นงานดังกล่าวนี้ ระยะหนึ่ง ในระหว่างนี้ ทันตแพทย์ จะทำสะพานฟันชั่วคราวให้ก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ฟันที่ถูกกรอ เพื่อเตรียมพื้นที่นี้ ขยับเขยือนหรือเกิดการเปลี่ยนแปลง
  • การพบทันตแพทย์ครั้งที่สอง จะมีการนำสะพานฟันชั่วคราวออก และใส่สะพานฟันถาวรลงไปแทน โดยจะเป็นวัสดุพอร์ซเลนหรือโลหะก็ได้ ตามที่คนไข้ได้เลือกไว้ จากนั้นจะตรวจเช็ค และปรับความเหมาะสม เพื่อให้วัสดุเข้าที่พอดี ทั้งนี้ หลังจากที่ทันตแพทย์ใส่สะพานฟันถาวรให้แล้ว คนไข้บางรายอาจจะต้องกลับมาพบอีกถ้าหากใช้งานได้ไม่เป็นปกติ แต่ส่วนมากทันตแพทย์จะนัดเพื่อติดตามผลการรักษาอีกครั้ง ประมาณ 2 สัปดาห์ หลังจากใส่สะพานฟัน

สะพานฟัน ใช้ได้นานแค่ไหน

ส่วนมากแล้ว อายุการใช้งานของสะพานฟัน จะอยู่ในระหว่าง 5-15 ปี ในบางกรณี อาจจะใช้ได้นานกว่านั้น ยิ่งถ้ามีการดูแลความสะอาดและตรวจเช็คอยู่เป็นประจำ ก็ทำให้อายุการใช้งานของสะพานฟันยาวนานขึ้น ซึ่งส่วนมากจะนานกว่า 10 ปี

เมื่อใส่สะพานฟันแล้วจะมีผลต่อการรับประทานอาหารหรือไม่

การใส่สะพานฟันเข้าไปแทนที่ฟันที่สูญเสียนั้น มีวัตถุประสงค์หลัก ก็คือเพื่อให้รับประทานอาหารได้ง่ายขึ้น เคี้ยวอาหารได้ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ ในระยะแรก ผู้ใส่สะพานฟันอาจจะยังไม่เคยชิน จึงไม่รู้สึกไม่สบายนัก แต่เมื่อใช้จนชิ้นแล้ว จะช่วยให้การบดเคี้ยวอาหารเป็นไปได้ง่ายขึ้น และเคี้ยวได้ละเอียดขึ้น

สะพานฟันส่งผลกระทบต่อการพูดหรือไม่

จริง ๆ แล้ว การสูญเสียฟัน หรือฟันหลอนั้น ทำให้พูดไม่ชัด การใส่สะพานฟันจะช่วยให้โครงสร้างในปากเป็นไปอย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงทำให้การพูดมีความเป็นธรรมชาติมากขึ้นด้วย

การดูแลรักษา หลังจากทำสะพานฟัน

การใช้งานและความแข็งแรงของสะพานฟันนั้น นอกจากจะขึ้นอยู่กับวัสดุที่เลือกใช้แล้ว การปฏิบัติตัวของผู้ใช้ก็มีความสำคัญเช่นกัน การดูแลสะพานฟันนั้น เพียงแค่แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ใช้ไหมขัดฟัน และน้ำยาบ้วนปากที่ช่วยต่อต้านเชื้อแบคทีเรียวันละครั้ง ก็เป็นการดูแลที่เพียงพอ นอกจากนี้ ผู้ทำสะพานฟัน ควรหมั่นตรวจเช็ค ไม่ให้มีฟันผุ ไม่ให้เกิดโรคเหงือกอันจะนำไปสู่การสูญเสียฟันอีก ด้วยการเข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจเช็ค เป็นประจำ และรีบแก้ไข หากเริ่มพบสัญญาณบางอย่างของโรค นอกจากนี้ การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ก็เป็นสิ่งจำเป็นด้วยเช่นกัน

บริการด้านทันตกรรม